การขนส่งเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากเทคโนโลยี และการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนไปเป็นวิถีใหม่ การขนส่งในอนาคตจึงไม่เพียงเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้า แต่ยังอาจส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของระบบการขนส่งอีกด้วย เราจึงชวนมาดูเทรนด์การขนส่งในโลกอนาคต 3 เทรนด์หลัก นั่นคือ การขนส่งที่เน้นพลังงานไฟฟ้า การใช้ระบบอัตโนมัติ และการปรับรูปแบบการให้บริการด้านการขนส่งและเดินทาง
การขนส่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ภาคขนส่งปล่อยก๊าซเป็นสัดส่วน 28% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล (โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินและดีเซล) เพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ รถบรรทุก เครื่องบิน และรถไฟ ยานพาหนะไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ที่รบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยลง จึงอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการขนส่ง
ยานยนต์ไร้คนขับสร้างโอกาสที่น่าตื่นเต้นในการปฏิวัติระบบการขนส่งผู้คนและสินค้า รวมไปถึงการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ลดการติดขัดในการเดินทางท่ามกลางการจราจรที่พลุกพล่าน และอาจเปลี่ยนวิธีในการสร้างเมือง ซึ่งในอนาคตที่จอดรถขนาดใหญ่จะกลายเป็นอดีต เมื่อยานพาหนะไร้คนขับสามารถมาส่งเราถึงที่หมายและกลับมารับเราภายหลังได้
สำหรับการขนส่งสินค้า หลายบริษัทกำลังพัฒนารถบรรทุกไร้คนขับ รวมถึง TuSimple สตาร์ตอัปผู้ผลิตรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติสัญชาติอเมริกันที่ทำงานร่วมกับ UPS เพื่อดำเนินการทดสอบเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับกับบริการขนส่งพัสดุ โดยนำเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับมาติดตั้งไว้ในรถขนส่งพัสดุที่วิ่งระหว่างเมืองในรัฐแอริโซนา (โดยมีคนขับ และวิศวกรประจำอยู่ในรถ) ผลปรากฏว่า ใช้เวลาและพลังงานน้อยกว่ารถบรรทุกแบบดั้งเดิมที่ใช้คนขับ ปัจจุบัน บริษัท ได้ดำเนินการทดลองแบบไร้คนขับสำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี 2564 และวางแผนเริ่มจำหน่ายรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติในปี 2567
รูปแบบของการบริการที่เข้าใจและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้ดีขึ้น ถือเป็นเมกะเทรนด์ที่ส่งผลต่อทุกอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการขนส่ง ทุกวันนี้พลเมืองจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในเมืองขนาดใหญ่ต่างก็ซื้อรถยนต์เพื่อความสะดวกในการเดินทาง รถจึงมีจำนวนมากเกินความจำเป็น เกิดปัญหาการจราจรและมลพิษทางอากาศตามมา เมื่อผู้คนหันมาให้ความสนใจกับภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดบริการรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์คือ Mobility-as-a-Service (MaaS)
3 เทรนด์ข้างต้นเป็นรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในยานพาหนะทั่วไปสำหรับผู้บริโภค แต่สำหรับบริการขนส่งสาธารณะ ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาระยะหนึ่งและพร้อมที่จะทดลองใช้งานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น "MagLev" รถไฟแม่เหล็กความเร็วสูง หรือ "Hyperloop" ระบบขนส่งคนด้วยความเร็วสูง
MagLev เป็นนวัตกรรมการเดินทางความเร็วสูงที่เกิดขึ้นจริงแล้วในโลกนี้ รถไฟชนิดนี้ขับเคลื่อนด้วยพลังแม่เหล็ก โดยใช้การลอยตัวระหว่างรางรถไฟจากแม่เหล็กแทนการวิ่งบนรางรถไฟทั่วไป ดังนั้นจึงไม่มีล้อ และยังเป็นระบบที่ไม่ต้องมีคนขับอีกด้วย สามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วกว่า 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่รถไฟความเร็วสูงในปัจจุบันแล่นได้ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อกลางปี 2564 ที่ผ่านมา จีนได้เปิดตัวรถไฟความเร็วสูง MagLev ที่มีความเร็วถึง 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความเร็วสูงที่สุดในประเทศ และเกือบเท่าสถิติโลกของ MagLev LO ของญี่ปุ่นที่ทำไว้ที่ 603 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
หากเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ MagLev จะลดระยะเวลาเดินทางระหว่างกรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ให้เหลือเพียง 2 ชั่วโมงกว่าจากเกือบ 5 ชั่วโมง
ขณะที่ไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 โดยอีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันการเดินทางรูปแบบใหม่ ๆ รวมทั้งโครงการไฮเปอร์ลูปวัน (Hyperloop One) ที่มีเป้าหมายขนส่งคนเดินทางไปเป็นระยะไกลได้แบบเดียวกับเครื่องบิน แต่ในราคาที่ถูกกว่ามาก
BY : NUN
ที่มา : https://www.irdp.org