แชร์

การปรับปรุงคลังจัดเก็บวัตถุดิบและสินค้า ด้วยการผสานเทคโนโลยี 5G, IoT สู่ Smart Warehouse & Logistics แห่งอนาคต

อัพเดทล่าสุด: 29 พ.ย. 2024
333 ผู้เข้าชม

ดังนั้นการบริหารจัดการ Warehouse ที่มีประสิทธิภาพ จึงมักสะท้อนผลลัพธ์ต่อความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และคุ้มค่าในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การกระจายสินค้า การขนส่ง หรือแม้แต่การให้บริการลูกค้าก็ตาม

ในขณะเดียวกัน การขนส่งหรือ Logistics ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับ Warehouse เป็นอย่างมาก และเป็นอีกหนึ่งต้นทุนสำคัญของธุรกิจหลายแห่งที่ต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง และสร้างความพึงพอใจแก่คู่ค้าหรือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ การปรับปรุงกระบวนการในการบริหารจัดการคลังสินค้าและการขนส่งจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการมาของเทคโนโลยีใหม่ๆ เองก็จะสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการบริหารจัดการคลังสินค้าและการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

ในบทความนี้ จะมุ่งเน้นถึงการนำเทคโนโลยี 5G และ IoT มาต่อยอดต่อการบริหารจัดการคลังสินค้าและการขนส่ง ซึ่งทั้งสองเทคโนโลยีนี้ก็ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดไปสู่การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่อื่นๆ อีกมากมายเข้ามาประยุกต์ใช้ในการจัดการคลังสินค้าได้ในหลากหลายแนวทางด้วยกัน

5G & IoT: องค์ประกอบสำคัญของ Smart Warehouse และ Smart Logistics แห่งอนาคต

หากนึกย้อนถึงอดีตที่ผ่านมา เทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคลังสินค้าและการขนส่งได้นั้นก็มีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ แต่ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใดก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว หัวใจสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพนั้น ก็ล้วนเกิดขึ้นจาก "ข้อมูล" ทั้งสิ้น

ข้อมูลภายในคลังสินค้านั้น ถือเป็นก้าวแรกที่จะทำให้การปฏิบัติงานภายในคลังสินค้าสามารถมีความถูกต้องและแม่นยำได้ จนในภายหลัง การต่อยอดด้านการนำข้อมูลคลังสินค้ามาใช้งานนั้นก็ได้แตกแขนงออกเป็นหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการคำสั่งการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบหรือสินค้าภายในคลัง, การทำนายแนวโน้มการใช้วัตถุดิบและสินค้าภายในคลังเพื่อนำไปต่อยอดสู่การเติมคลังสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ, การจัดการข้อมูลคลังสินค้าแบบอัตโนมัติ, การเชื่อมผสานระบบสู่เครื่องจักรในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำงานแบบอัตโนมัติ ไปจนถึงการเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ เพื่อนำข้อมูลในแต่ละส่วนมาผสานรวมกันและต่อยอดสู่การบริหารจัดการคลังสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่าในการรวบรวมและอัปเดตข้อมูลภายในคลังสินค้านั้น ย่อมต้องอาศัยเทคโนโลยีด้านระบบเครือข่ายหรือ Network ในการเชื่อมต่อข้อมูลจากระบบต่างๆ ไปยังผู้ปฏิบัติงานหรือเครื่องจักรที่มีการใช้งาน ซึ่งก่อนหน้านี้ เทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมนั้นก็คือ Wi-Fi และ Bluetooth ที่อาจจะเหมาะกับการใช้งานในบางพื้นที่สำหรับการติดตั้งในคลังสินค้า อันเต็มไปด้วยโลหะชิ้นใหญ่ๆ มากมาย ส่งผลให้เกิดการรบกวนกันของสัญญาณ และความครอบคลุมในการให้บริการเครือข่าย

ในขณะเดียวกัน สำหรับการขนส่ง ข้อมูลเองก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่ข้อมูลที่ใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการขนส่งนั้นจะเป็นข้อมูลอีกประเภท ซึ่งก็คือข้อมูลของยานพาหนะ, ข้อมูลแผนที่การเดินทาง, ข้อมูลสภาพการจราจร, ข้อมูลสถานะของสินค้าที่ขนส่ง, ข้อมูลการขับขี่ยานพาหนะ ไปจนถึงข้อมูลรายการสินค้าและการจัดส่งที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมดมาประมวลผลร่วมกันและจัดการกำหนดแผนการเดินทางที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละวัน และการวางแผนการลงทุนเพิ่มหรือลดยานพาหนะและเปิดคลังสินค้าใหม่ในระยะยาว

ในจุดนี้เองที่เทคโนโลยี 5G ได้เข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ในการเชื่อมต่อเครือข่ายภายในคลังสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความสามารถในการทะลุทะลวงของสัญญาณที่ดี อีกทั้งยังสามารถเลือกใช้งานในแบบ Private 5G สำหรับตอบโจทย์ด้านความเสถียร, ความเร็วในการตอบสนอง, การปกป้องข้อมูลธุรกิจจากภายนอก และการรองรับการใช้งานได้ในหลากหลายรูปแบบ สามารถเชื่อมต่อใช้งานได้กับอุปกรณ์และเครื่องจักรหลายชนิด อีกทั้งยังมีความครอบคลุมของสัญญาณเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ส่งผลให้การวางระบบเครือข่ายสำหรับคลังสินค้าแต่ละแห่ง หรือเชื่อมต่อเครือข่ายระหว่างอาคารนั้นเป็นไปได้อย่างง่ายดายยิ่งกว่าในอดีต

สำหรับการรับข้อมูลจากบนยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งนั้น 5G ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะของระบบเครือข่ายที่มีความครอบคลุมรับส่งข้อมูลได้อย่างต่อเนื่องจากบนท้องถนนทั่วประเทศไทยเช่นกัน

ในขณะเดียวกัน IoT หรือ Internet of Things ก็กลายเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่เข้ามาเติมเต็มความต้องการของการบริหารจัดการคลังสินค้าและการขนส่งได้หลากหลายรูปแบบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Sensor เพื่อตรวจสอบข้อมูลสภาพแวดล้อมเฉพาะทางในบางส่วน, การใช้อุปกรณ์ IoT เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลจากเครื่องจักรนำเข้ามาสู่ระบบบริหารจัดการคลังสินค้าในส่วนกลาง, การเชื่อมต่อข้อมูลจากยานพาหนะที่ใช้ภายในคลังสินค้าหรือใช้ในการขนส่ง, การเชื่อมต่อกล้องเพื่อนำข้อมูลภาพเคลื่อนไหวไปใช้ประมวลผล หรือแม้แต่การทำหน้าที่เป็นระบบเครือข่ายหลักสำหรับหุ่นยนต์และยานยนต์อัตโนมัติที่จะใช้งานภายในคลังสินค้าก็ตาม

การนำ 5G และ IoT มาใช้งานรวมกันภายในการบริหารจัดการคลังสินค้าและการขนส่งนี้ จึงเป็นแนวทางใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากทั่วโลก เพราะนอกจากจะทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้าน Network ภายในคลังสินค้ามีความเรียบง่ายและครอบคลุมมากขึ้นแล้ว ความสามารถในการรวบรวมข้อมูลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในคลังสินค้าและการขนส่งแบบ Real-Time ก็ยังเป็นอีกสิ่งที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับการบริหารจัดการคลังสินค้าได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ หรือการควบคุมเครื่องจักร, ยานพาหนะ และหุ่นยนต์ที่มีการใช้งานภายในคลังสินค้าและบนท้องถนนอย่างทันท่วงทีนั้นก็ยังกลายเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงแล้วในปัจจุบัน

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี 5G & IoT ภายในระบบ Smart Warehouse และ Smart Logistics แห่งอนาคต

สำหรับปี 2024 และอนาคตที่กำลังจะมาถึงนี้ แนวทางในการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี 5G และ IoT ภายในคลังสินค้าที่น่าสนใจก็มีด้วยกันหลากหลายแนวทาง ได้แก่

1. การใช้หุ่นยนต์ภายในคลังสินค้า (Warehouse Robot)

หุ่นยนต์ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีหลักที่ Warehouse ทั่วโลกต่างให้ความสนใจเป็นลำดับต้นๆ ด้วยความสามารถในการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในคลังได้อย่างอัตโนมัติ, รวดเร็ว, แม่นยำ, ปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน และบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงานได้ง่ายกว่าการใช้บุคลากรในการขนเคลื่อนย้ายสินค้าในหลายประเภท

หุ่นยนต์ที่มีการใช้งานภายในคลังสินค้านั้น มีทั้งหุ่นยนต์สำหรับหยิบจับยกสินค้า, หุ่นยนต์สำหรับการคัดแยกประเภทสินค้า และหุ่นยนต์สำหรับบรรทุกสินค้าและเคลื่อนย้ายภายในคลังสินค้า โดยทุกการทำงานจะมีการอัปเดตข้อมูลการเคลื่อนย้ายสินค้าไปยังระบบบริหารจัดการคลังสินค้าโดยอัตโนมัติ ทำให้การก้าวสู่ภาพของ Smart Warehouse นั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง

นอกจากนี้ ด้วยศักยภาพของหุ่นยนต์ที่นับวันจะยิ่งเก่งกาจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้การออกแบบคลังสินค้าในแบบ Smart Warehouse นั้นสามารถปรับสู่การออกแบบเพื่อรองรับการทำงานของหุ่นยนต์โดยเฉพาะได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดขนาดพื้นที่ระหว่างชั้นวางให้เพียงพอต่อการทำงานของหุ่นยนต์, การเพิ่มความสูงของชั้นวางให้มากขึ้นโดยยังคงสอดคล้องต่อคุณสมบัติของหุ่นยนต์หยิบสินค้าที่เลือกนำมาใช้งาน และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้การใช้งานพื้นที่สำหรับคลังสินค้านั้นมีความคุ้มค่ามากขึ้น ภายในคลังสินค้าบนพื้นที่เท่าเดิม สามารถบรรจุสินค้าจำนวนมากกว่าเดิมได้ ซึ่งก็ตอบโจทย์ต่อคลังสินค้าของธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางความกดดันของราคาที่ดินที่นับวันจะยิ่งมีราคาสูงยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในประเทศไทยก็มีตัวอย่างของการประยุกต์ใช้งานในลักษณะนี้แล้ว เช่น Somboon Advanced Technology ที่มีการนำทั้งหุ่นยนต์ประเภท 3D Vision Robot สำหรับการหยิบจับคัดแยกชิ้นงาน และ Unmanned AGV สำหรับการลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ มาทำงานร่วมกับระบบ AS/RS Smart Warehouse หรือ Automated Storage & Retrieval System 3D Warehousing ระบบคลังสินค้าอัจฉริยะ ที่จะช่วยจัดเก็บ หรือ ค้นหาสินค้าที่ต้องการได้แบบเรียลไทม์ [1]

 
2. การประยุกต์ใช้ AI และระบบวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูงภายในคลังสินค้า (Warehouse AI & Advanced Analytics)

AI เองก็กำลังเป็นอีกเทคโนโลยีที่ถูกจับตามองสำหรับการบริหารจัดการคลังสินค้าในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา AI ด้าน Computer Vision สำหรับการตรวจสอบ, คัดแยก, จำแนก หรือค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้นจากข้อมูลภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในแง่มุมที่หลากหลาย, การพัฒนา Machine Learning เพื่อทำนายแนวโน้มในการบริหารจัดการคลังสินค้า การทำงานของเครื่องจักร และอื่นๆ หรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Natural Language Processing (NLP) เพื่อให้ AI สามารถตอบสนองต่อผู้ปฏิบัติงานได้โดยง่ายในการเข้าถึงข้อมูลหรือสั่งการใดๆ ต่อเครื่องจักรและหุ่นยนต์

เทคโนโลยี AI บางประเภทนั้นอาจสามารถนำมาใช้งานภายในคลังสินค้าหลายแห่งร่วมกันได้ ในขณะที่เทคโนโลยี AI บางส่วนอาจต้องถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้งานในรูปแบบที่มีความเฉพาะตัวสำหรับคลังสินค้าแต่ละแห่ง ซึ่งจุดนี้เองที่จะเป็นจุดสำคัญในการเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับคลังสินค้าในระยะยาวได้เป็นอย่างดี

หลายครั้งนั้น การบริหารจัดการ Warehouse และ Logistics ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป ซึ่งทาง McKinsey ก็ได้วิเคราะห์ผลการสำรวจที่น่าสนใจว่า ธุรกิจที่สามารถใช้งาน AI ได้สำเร็จนั้น จะสามารถปรับปรุงค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้ดีขึ้น 15%, สามารถบริหารจัดการปริมาณวัตถุดิบและสินค้าในคลังได้ดีขึ้นถึง 35% และสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้ดีขึ้นถึง 65% เลยทีเดียว [2, 3]

3. การบริหารจัดการยานพาหนะและการขนส่งอัจฉริยะ (Smart Vehicle Management & Transportation Management System)

การจัดการยานพาหนะและเส้นทางการขนส่งก็ยังคงเป็นกระบวนการสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานด้าน Transportation และ Logistics ของธุรกิจเป็นไปได้อย่างราบรื่นและคุ้มค่า ซึ่งแน่นอนว่าการมาของ 5G และ IoT พร้อมกับ AI นั้นจะยิ่งเร่งให้กระบวนการเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าที่เคย

ในแง่ของการบริหารจัดการยานพาหนะ การเปลี่ยนยานพาหนะให้กลายเป็นยานพาหนะอัจฉริยะหรือ Smart Vehicle ก็ยังเป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการผสานอุปกรณ์ IoT Sensor และ GPS สำหรับรวบรวมข้อมูลของเครื่องยนต์และการขับขี่ หรือการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อติดตามการขับขี่, ผู้ขับขี่ และการเคลื่อนย้ายสินค้าบนยานพาหนะ ซึ่งจะช่วยให้การจัดการด้านการซ่อมบำรุง หรือควบคุมคุณภาพการขับขี่ยานพาหนะเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งสำหรับสินค้าที่มีความละเอียดอ่อนในการขนส่ง ก็สามารถควบคุมคุณภาพการจัดเก็บและการขนส่งเพิ่มเติมได้ด้วยเช่นกัน

ด้วยข้อมูลจำนวนมากจากทั้ง GPS, IoT Sensor และกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งนั้น การประยุกต์ใช้ AI สำหรับระบบเหล่านี้จึงเป็นการต่อยอดที่เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นจากภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ AI เพื่อทำนายแนวโน้มความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเครื่องยนต์เพื่อทำ Preventive Maintenance, การใช้ AI วิเคราะห์ภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ของเจ้าหน้าที่ในเชิงลึกมากขึ้น, การเรียนรู้ Pattern ในการขับขี่เพื่อตรวจจับความผิดปกติที่เกิดขึ้นในระหว่างการขับขี่หรือการทำงานของเครื่องยนต์ และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ขับขี่, ยานพาหนะ และสินค้าที่กำลังขนส่ง

ทั้งนี้สำหรับธุรกิจขนส่งในแบบ Last Mile ที่มีการใช้จักรยานยนต์ในการดำเนินธุรกิจเป็นจำนวนมาก การใช้ Motor Tracker เพื่อตรวจสอบข้อมูลยานพาหนะและการขับขี่ รวมถึงตำแหน่งผ่าน GPS ในแบบ Real-Time ก็จะทำให้ธุรกิจมีข้อมูลในการสร้างประสบการณ์การขนส่งที่ดีแก่ลูกค้าปลายทาง และตรวจสอบคุณภาพของผู้ขับขี่ได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนการวางแผนเส้นทางการขนส่งในแต่ละวันด้วยระบบการขนส่งอัจฉริยะหรือ Transportation Management System ก็เป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่ธุรกิจซึ่งมีหน่วยขนส่งของตนเองเป็นจำนวนมากนิยมใช้งาน ซึ่งจะต้องอาศัยข้อมูลแผนที่ เส้นทาง คำสั่งซื้อและคำสั่งขนส่ง พร้อมทั้งข้อมูลปัจจัยภายนอกอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อนำมาคำนวณประมวลผลหาเส้นทางที่เหมาะสมและคุ้มค่าที่สุดในการขนส่ง

อย่างไรก็ดี การมาของ AI ได้ยกระดับการคำนวณเหล่านี้ขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการค้นหาปัจจัยที่จะส่งผลต่อระยะเวลาและแผนการขนส่งที่เหมาะสมในแต่ละวัน เช่น หากเป็นวันที่มีแนวโน้มว่าฝนจะตก ควรมีการเผื่อเวลาในการเดินทางมากน้อยเพียงใด หรือหากยานพาหนะประสบกับการจราจรติดขัดที่ไม่คาดฝันหรือประสบอุบัติเหตุ ควรมีการแก้ไขเส้นทางการขนส่ง หรือแจ้งเตือนผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เป็นต้น

4. การตรวจสอบติดตามทรัพย์สินองค์กรแบบอัจฉริยะ (Smart Asset Tracking)

สำหรับทรัพย์สินที่มีขนาดใหญ่, มีมูลค่าสูง หรือมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการดำเนินธุรกิจ การนำเทคโนโลยี 5G และ IoT มาผสมผสานกับระบบ Asset Tracking นั้นถือว่ามีความจำเป็นกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก โดยนอกจากการติดตามยานพาหนะดังที่ได้นำเสนอไปข้างต้นแล้ว การติดตามสิ่งอื่นๆ เช่น เครื่องจักร, ตู้คอนเทนเนอร์, ทรัพย์สินราคาสูงที่ถูกเคลื่อนย้ายภายในคลังสินค้าหรืออาคาร, สินค้าที่มีราคาสูงซึ่งเตรียมส่งมอบลูกค้า หรืออุปกรณ์ที่มีการนำไปติดตั้งใช้งานภายในพื้นที่อาคารของลูกค้า ล้วนจะช่วยให้องค์กรสามารถตรวจสอบ ติดตาม และบริหารจัดการทรัพย์สินเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น และเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ในแง่ของการบริหารจัดการทรัพย์สิน การใช้เทคโนโลยี Smart Asset Tracking จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายหรือสูญหายต่อทรัพย์สินเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีข้อมูลแวดล้อมที่ครบถ้วนสำหรับวิเคราะห์ตรวจสอบหาสาเหตุของความเสียหายหรือการสูญหาย อีกทั้งในหลายกรณี ยังสามารถนำมาต่อยอดเพื่อรวบรวมข้อมูลและทำ Preventive Maintenance ได้

ส่วนในแง่ของการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ การทำ Servitization เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจจากการขายผลิตภัณฑ์แบบขาด ไปสู่การเช่าใช้พร้อมคิดค่าใช้จ่ายเป็นการบริการแบบรายเดือนหรือรายปีแทน ก็ต้องอาศัยระบบ Smart Asset Tracking ในการติดตามผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไม่ให้เกิดการสูญหาย และยังเป็นช่องทางในการรับส่งข้อมูลระหว่างผลิตภัณฑ์นั้นๆ และระบบ Cloud ของธุรกิจอีกด้วย

5. แพลตฟอร์มเชื่อมต่อและบริหารจัดการ IoT เอนกประสงค์ (IoT Connectivity Portal)

หากสำหรับธุรกิจทั่วไป Cloud คือระบบที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างอิสระ ในมุมของธุรกิจด้าน Warehouse และ Logistics การมีระบบ IoT Connectivity Portal ก็จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ บน 5G และ IoT
สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจองค์กรหลายแห่งเลือกที่จะเริ่มต้นวางโครงการด้านระบบ IoT พร้อมทั้งใช้แพลตฟอร์ม IoT กลางเหล่านี้ ก็เป็นเพราะวิสัยทัศน์ในการเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วและอิสระของเหล่าผู้บริหาร ที่จะทำให้ธุรกิจสามารถลองผิดลองถูกกับการนำอุปกรณ์ IoT รูปแบบใหม่ๆ เข้ามาใช้งาน และรับข้อมูลเพื่อนำมาประมวลผลต่อยอดได้อย่างคล่องตัว ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้มักรองรับการเชื่อมต่อและรวบรวมข้อมูลตามมาตรฐานสากลที่หลากหลาย พร้อมทั้งยังเปิดช่องทางให้ทำการปรับแต่งระบบสำหรับรับข้อมูลจากอุปกรณ์ที่มีความเฉพาะทางสูงได้

ด้วยเหตุนี้ ในอนาคตหลังจากนี้ ระบบ IoT Connectivity Portal จึงจะกลายเป็นอีกหัวใจสำคัญของการจัดการคลังสินค้าและการดำเนินการด้านคมนาคมขนส่งของธุรกิจ ไม่แตกต่างจาก Cloud ที่เป็นหัวใจสำคัญของทุกธุรกิจอย่างที่ผ่านมา

6. การตรวจสอบความเสียหายของหีบห่อ, วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ (Damage Detection / Inspection)

อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการคลังสินค้านั้นก็คือการควบคุมคุณภาพในการขนส่งและการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขนส่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดโอกาสการเกิดความสูญเสียในการปฏิบัติงานให้น้อยลง ซึ่งส่งผลให้เทคโนโลยี Damage Detection หรือ Damage Inspection นั้นเริ่มถูกนำมาใช้ทั้งภายในสายการผลิตและภายในคลังสินค้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกเหนือจากข้อดีในแง่ของการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว ข้อมูลที่ได้รับอย่างครบถ้วนรวดเร็วแม่นยำจากเทคโนโลยีเหล่านี้ ก็ยังสามารถนำไปต่อยอดใช้ในการตรวจสอบต้นตอของปัญหา และจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจโดยรวม และลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย

7. การวิเคราะห์แนวโน้มความเสียหายหรือการหยุดชะงักล่วงหน้า (Predictive Maintenance)

เมื่อคลังสินค้าเริ่มมีการใช้งานยานพาหนะ, เครื่องจักร และหุ่นยนต์มากขึ้น การตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้เพื่อบำรุงรักษาอย่างเหมาะสมก็กลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเทคโนโลยี Predictive Maintenance ที่มักถูกใช้ในสายการผลิตหรือเครื่องจักรขนาดใหญ่เอง ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์เหล่านี้ได้เช่นกัน โดยสำหรับอุปกรณ์เก่าที่มีอยู่ดั้งเดิมนั้น ก็สามารถเสริมการใช้ IoT ทำหน้าที่เป็น Sensor ในการรวบรวมข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ได้

การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในคลังสินค้า จะสามารถช่วยลด Downtime ที่ไม่คาดฝันลงได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะสามารถลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการหยุดชะงักของธุรกิจได้ อีกทั้งยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงยานพาหนะ, เครื่องจักร และหุ่นยนต์ลงได้ ทั้งในแง่ของการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่อธุรกิจ และการลดรอบการตรวจสอบซ่อมบำรุงที่ไม่จำเป็นลง

8. การใช้อุปกรณ์สวมใส่พกพาในคลังสินค้า (Wearable & Mobile Technology)

หนึ่งแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานภายในคลังสินค้านั้น ก็คือการนำอุปกรณ์ในกลุ่ม Wearable & Mobile Technology เข้ามาใช้งาน เช่น การสวมใส่นาฬิกาที่สามารถติดตามตำแหน่งและวัดข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานได้ สำหรับในกรณีที่คลังสินค้าอาจมีความเสี่ยงหรืออันตรายจากปัจจัยต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการตรวจสอบควบคุมความพร้อมในการปฏิบัติงาน, การใส่หมวกติดกล้องหรือแว่นอัจฉริยะ เพื่อให้สามารถบันทึกข้อมูลภาพเคลื่อนไหวจากมุมมของผู้ปฏิบัติงาน สื่อสารได้โดยไม่ต้องใช้มือ ประชุมงานแก้ไขปัญหาโดยส่งภาพจากหน้างานไปยังผู้ที่ไม่ได้อยู่ในสถานที่ได้ และอาจนำเทคโนโลยีอย่าง Mixed Reality (MR) มาประยุกต์ใช้เพื่อให้มองเห็นข้อมูลต่างๆ ภายในคลังสินค้าได้ทันทีที่ต้องการ

9. Cold Chain Temperature & Humidity Integrity

สำหรับ Warehouse และ Logistics ที่เกี่ยวข้องกับ Cold Chain ซึ่งต้องมีการรักษาอุณหภูมิหรือความชื้นอย่างเหมาะสมนั้น การใช้ 5G และ IoT จะช่วยให้การตรวจสอบติดตามข้อมูลเหล่านี้เป็นไปได้อย่างง่ายดายและ Real-Time มากขึ้น ทั้งภายในคลังสินค้าเองหรือระหว่างขนส่งสินค้าระหว่างคลังก็ตาม รวมถึงยังสามารถที่จะรองรับการตรวจสอบติดตามข้อมูลเหล่านี้ได้ตลอดทั่วทั้ง Supply Chain ตั้งแต่คลังสินค้า, สายการผลิต, การขนส่ง, การจัดเก็บปลายทาง ไปจนถึงหน้าร้านได้ ช่วยให้การควบคุมคุณภาพการจัดเก็บวัตถุดิบหรือสินค้าที่มีความต้องการเฉพาะตัวนี้ดีขึ้นอย่างที่ไม่เป็นเป็นมาก่อน

10. Customer & Supplier Collaboration

การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี AI ในการตอบสนองด้วยภาษาอย่างเช่น ChatGPT นั้น ได้เปิดโอกาสใหม่ในการปรับปรุงช่องทางการสื่อสารกับลูกค้าและคู่ค้าของธุรกิจคลังสินค้าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยการผสานเทคโนโลยี AI เหล่านี้เข้ากับช่องทางการสื่อสารออนไลน์อย่างระบบแชทของธุรกิจ ก็จะทำให้การเข้าถึงข้อมูล การโต้ตอบ การแนะนำแนวทางต่างๆ สามารถทำได้อย่างอัตโนมัติ
สรุป
การใช้เทคโนโลยี 5G และ IoT ในการบริหารจัดการคลังสินค้าและโลจิสติกส์ช่วยเปลี่ยนระบบเดิมให้กลายเป็น Smart Warehouse และ Smart Logistics ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบข้อมูลแบบเรียลไทม์, การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง, และการปรับปรุงกระบวนการให้เกิดความแม่นยำและรวดเร็ว

ในอนาคต การผสมผสาน AI, Machine Learning, และ Edge Computing จะยิ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถยกระดับการบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่ความได้เปรียบในการแข่งขันในยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน.
BY : Tonkla

ที่มา : https://www.ais.th
 


บทความที่เกี่ยวข้อง
AI กับ CRM เมื่อปัญญาประดิษฐ์พลิกโฉมการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า
ในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลลูกค้ามีปริมาณมหาศาล การบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) แบบเดิมๆ อาจไม่เพียงพออีกต่อไป ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับ CRM ให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ธุรกิจในยุคปัจจุบัน
ร่วมมือ.jpg เหมาคัน
24 มี.ค. 2025
AI กับการเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค เจาะลึกความต้องการลูกค้าด้วยพลังปัญญาประดิษฐ์
ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลบ่าอย่างรวดเร็ว การทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งกลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจทุกประเภท และปัญญาประดิษฐ์ (AI) คือเครื่องมือทรงพลังที่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายนี้ได้
ออกแบบโลโก้__5_.png BANKKUNG
24 มี.ค. 2025
Google เปิดตัว AI บน Android เพื่อตรวจจับข้อความหลอกลวง (Scam) โดยใช้เทคโนโลยี AI
Google เปิดตัว AI บน Android เพื่อตรวจจับข้อความหลอกลวง (Scam) โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์พฤติกรรมของมิจฉาชีพแบบเรียลไทม์ เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้
Notify.png พี่ปี
22 มี.ค. 2025
icon-messenger
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ